ประวัติ MD ACTS

การจัดการความรู้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถือกำเนิดในเดือนมีนาคม ปี 2549 โดยดำริของ ศ.นพ.วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในสมัยนั้น ได้ดำริการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบภารกิจการจัดการความรู้โดยตรง ซึ่งใช้ชื่อว่า “สำนักงานบริหารจัดการองค์ความรู้” มีการวางแผนโดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎี “Change Management” ในการบริหารจัดการองค์กร และในปี 2557 สำนักงานบริหารจัดการองค์ความรู้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานบริหารการบริการวิชาการ การจัดการความรู้และนวัตกรรม” เป็นต้นมา ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญในการดำเนินงาน ประกอบด้วยภารกิจด้านบริการวิชาการ และภารกิจด้านการจัดการความรู้ และภารกิจด้านนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานมีการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ โดยค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี และขยายผลองค์ความรู้ที่สำคัญขององค์กร เพื่อพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเสริมสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งหวังให้บุคลากรเกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ และมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงและก่อให้เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “KM” คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล เอกสาร องค์การ หรือชุมชน มาจัดระเบียบ พัฒนา แล้วจัดเก็บให้อย่างระบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ พัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นแนวทางการบริหารองค์การให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ การต่อยอดความรู้ การแบ่งปันภูมิปัญญา และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในชุมชนหรือองค์การ เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ความรู้ คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ และประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจ หรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ องค์วิชาในแต่ละสาขา (ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) แยกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) เป็นความรู้แบบนามธรรม คือ ความรู้ที่ได้จากพรสวรรค์ สัญชาติญาณ หรือประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ในการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงานด้านต่างๆ งานฝีมือ ประสบการณ์ แนวการคิดวิเคราะห์ การเข้าถึงและเข้าใจตัวบุคคล เป็นต้น

2. ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้แบบรูปธรรม คือ สามารถเก็บรวบรวมและนำไปถ่ายทอดได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หนังสือ คู่มือ ทฤษฎี หลักปฏิบัติ ขั้นตอน หรือวิธีการปฏิบัติงาน สื่อต่างๆ เช่น เทป VDOเทป VCD DVD Internet เป็นต้น

ทั้งนี้ ความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้ สามารถสลับปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น บางครั้ง Tacit Knowledge ก็เปลี่ยนมาจาก Explicit Knowledge และบางครั้ง Explicit Knowledge ก็เปลี่ยนไปเป็น Tacit Knowledge

 

เป้าหมายสำคัญของการจัดการความรู้

คือ เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคน พัฒนาองค์การ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการที่วางไว้ ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ มีการพัฒนาตนเองตามสายงาน และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและองค์การ ดังนี้

การตอบสนอง (Responsiveness) ต่อความต้องการของผู้รับบริการ ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อองค์การ ต่อชุมชนและสังคมส่วนรวม

นวัตกรรม (Innovation) ทั้งที่เป็นนวัตกรรมในการทำงาน นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการให้บริการ

สมรรถนะ (Competency) ของบุคลากรและองค์การที่พัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการจัดการความรู้ขององค์การ และการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และการรู้จักต่อยอดความรู้ของบุคลากร

ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง การทำงานที่ลงทุนลงแรงน้อยแต่ได้ผลมากหรือคุณภาพสูง เป้าหมายสำคัญของการจัดการความรู้ คือ การที่กลุ่มคนที่ดำเนินการจัดการความรู้ร่วมกัน มีชุดความรู้ของตนเองสำหรับใช้งาน มีการทดลองนำความรู้จากภายนอกมาผสมผสาน ปรับปรุง และพัฒนาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์การของตนเอง มีการทดลองใช้งานและบูรณาการร่วมกับทุกกิจกรรมของการทำงาน

องค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้ (Knowledge Process)

คน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดเพราะเป็นแหล่งความรู้ และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

กระบวนการความรู้ เป็นการบริหารจัดการ เพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนา และปรับปรุง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

1. การบ่งชี้ความรู้ เช่นพิจารณาว่า วิสัยทัศน์/ พันธกิจ/ เป้าหมาย คืออะไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจำเป็นต้องรู้อะไร ขณะนี้เรามีความรู้อะไรบ้าง อยู่ในรูปแบบใด อยู่ที่ใคร

2. การสร้างและแสวงหาความรู้ เช่นการสร้างความรู้ใหม่ แสวงหาความรู้จากภายนอก รักษาความรู้เก่า กำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว

3. การจัดความรู้ให้เป็นระบบ เป็นการวางโครงสร้างความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้ อย่างเป็นระบบในอนาคต

4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เช่น ปรับปรุงรูปแบบเอกสารให้เป็นมาตรฐาน ใช้ภาษาเดียวกัน ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์

5. การเข้าถึงความรู้ เป็นการทำให้ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) Web board บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ทำได้หลายวิธีการ โดยกรณีเป็น Explicit Knowledge อาจจัดทำเป็นเอกสาร ฐานความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกรณีเป็น Tacit Knowledge อาจจัดทำเป็นระบบ ทีมข้ามสายงาน กิจกรรมกลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระบบพี่เลี้ยง การสับเปลี่ยนงาน การยืมตัว เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น

7. การเรียนรู้ ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่น เกิดระบบการเรียนรู้จากการสร้างองค์ความรู้ และนำความรู้ไปใช้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ และหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือช่วยให้คนสามารถค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนจะต้องเชื่อมโยงและบูรณาการอย่างสมดุล การจัดการความรู้ของกรมการปกครองจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 กำหนดให้องค์การรัฐทุกภาคส่วนมีหน้าที่พัฒนาความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรในสังกัดให้มีประสิทธิภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจัดให้มีกิจกรรมกระบวนการจัดการความรู้ (KM Process) และกิจกรรมกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process) ควบคู่กันไป เพื่อให้องค์การเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป

----------------------------------

การพัฒนา MD ACTS Application

เป็นแอพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลจัดเก็บและเผยแพร่องค์ความรู้ที่สำคัญขององค์กร พร้อมทั้งเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลทุกระดับ ที่สามารถใช้งานง่าย เข้าถึงสะดวกได้ทุกที่ ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับองค์กรให้รองรับการใช้งานบน Mobile Application ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกทุกที่ ทุกเวลา สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเรื่ององค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อการปฏิบัติงาน มุ่งสู่การขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าประสงค์ในการเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง (High Performance Organization) และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)

ที่มาของคำว่า MD ACTS มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององคืกรคระแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีที่มาดังนี้

MD   ย่อมาจาก       Faculty of Medicine

A       ย่อมาจาก       Agility ฉับไว คล่องตัว พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

C       ย่อมาจาก       Customer Target คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพันธกิจหรือกระบวนการ คำนึกถึงผู้เรียน คำนึงถึงผู้ป่วย

T       ย่อมาจาก       Technology and Innovation มุ่งเรียนรู้และประยุกติ์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาพยาบาล การช่วยเหลือชุมชนและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

S       ย่อมาจาก       Social Devotion สนับสนุนช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของชุมชน ทั้งในด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ รับผิดชอบต่อสังคม ประหยัดพลังงาน และห่วงใยสิ่งแวดล้อม